เที่ยวพม่า มิงกะลาบา ยลเสน่ห์ มัณฑะเลย์ – เนปิดอว์ ชิมกุ้งเผาพม่า กับ Bangkok Airways (ตอนที่ 2)
ความเดิมจากตอนที่แล้ว ...
เที่ยวพม่า #1 : มิงกะลาบา ยลเสน่ห์ มัณฑะเลย์ - เนปิดอว์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ (ตอนที่ 1)
https://www.uncledeng.com/portfolio-view/myanmar-bangkok-airways1/
ลุงเด้ง ป้าไก่ ได้รับเชิญจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์
ให้ร่วมเดินทางไปยลเสน่ห์ มัณฑะเลย์ - เนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
รายละเอียดของการเดินทางเน้นในเรื่องไหว้พระ ทำบุญ และขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า วันที่ 28 - 30 มกราคม 2557
สายการบินบางกอกแอร์เวย์
เว็บไซต์ http://www.bangkokair.com/
วันที่ 2 : มัณฑะเลย์
เช้าตรู่ : เสียงโทรศัพท์ wake up call ปลุกกันตั้งแต่ตี 3 อาบน้ำล้างหน้าแต่งตัว คณะผู้เดินทางพร้อมกันที่ Lobby ของโรงแรม เพื่อเดินทางไปนมัสการพระมหามัยมุนี อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด 1 ใน 5 ของพม่า เพื่อไปร่วมชมประเพณีล้างพระพักตร์ เป็นพิธีที่จัดขึ้นทุกเช้า เวลาประมาณตี 4
ชาวพม่านิยมถวาย น้ำ ดอกไม้สด ธูป เทียน โดยนำไปวางไว้ในที่ทางวัดจัดให้
บริเวณที่นั่งสักการะ และชมพิธีล้างพระพักตร์ ทางวัดจัดแยกพื้นที่สำหรับผู้ชายและผู้หญิง
บริเวณด้านหน้าสุดสำหรับสุภาพบุรุษเท่านั้น
คณะของลุงเด้งมาถึงที่วัดก่อนเวลา ตี 4 คนยังน้อยอยู่ครับ
ผู้ชาย สามารถเดินไปนั่งชมประเพณีล้างพระพักตร์ด้านหน้าสุดได้เลยนะครับ
แต่ผู้หญิงต้องนั่งแถวหลัง
ประตูยังไม่เปิดนะครับ จะเปิดก็ต่อเมื่อเริ่มพิธีเท่านั้น
ลุงเด้งพยายามจะเบียดตัวไปนั่งแถวหน้า
แต่ก็ไม่ได้เพราะมีคนอื่นๆ มาจับจองก่อนหน้าลุงเด้งแล้ว...
ด้านหน้าสุดมีพระชาวพม่ามานั่งสวดมนต์ตลอดเวลา สวดแบบจริงๆ จังๆ ด้วยครับ
หมายเหตุ... แนะนำพกโลชั่นกันยุง ไปด้วยนะครับ
ประมาณตี 4 ก็มีพระผู้ใหญ่ และผู้ช่วยเดินมาจากด้านหลังข้างๆที่ลุงเด้งนั่ง
เปิดประตู และเริ่มทำพิธี
ตำนานการสร้างพระมหามัยมุนี..เล่ากันว่า..ในสมัยพระพุทธกาลที่เมืองยะไข่ (ยักไข่ หรืออาระคัน หรืออาระไคน์) มีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า พระเจ้าจันทรสุริยา ได้ยินเรื่องราวของพระพุทธเจ้าออกเทศนาโปรดผู้คนในประเทศอินเดีย พระองค์ประสงค์อยากกราบไหว้และได้ฟังเทศนาจากพระพุทธเจ้าบ้าง จึงได้อธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาทางเมืองยะไข่ พระพุทธเจ้าได้ทราบถึงความปรารถนาของพระเจ้าจันทรสุริยา จึงได้เสด็จมาพร้อมสาวกอีก ๕๐๐ รูป พระเจ้าจันทรสุริยาได้จัดที่ในวังถวายให้พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อครบ ๗ วัน ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ พระเจ้าจันทรสุริยาได้ขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าไว้กราบไหว้บูชา จึงให้ช่างหล่อให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏว่าส่วนอื่นของพระพุทธรูปหล่อเสร็จสมบูรณ์หมด ยกเว้นที่พระนลาฏ หล่ออย่างไรก็ไม่ติด พระพุทธเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตร จึงถูไคลจากพระอุระปั้นเป็นก้อนปิดลงไปที่พระนลาฏ จึงหล่อได้สำเร็จ...แต่มีอีกตำนานเล่าว่า..พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจใส่ลงไปในพระพุทธรูปองค์นี้ จึงหล่อได้สำเร็จและหายใจได้ ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสให้นั่งลงและให้เป็นพระพุทธรูปให้คนยะไข่กราบไหว้ตั้งแต่นั้นมา...
ในอดีต..มีพระเจ้าแผ่นดินของชาวพม่าหลายพระองค์ที่ทำสงครามเอาชนะชาวยะไข่ได้ มีพระประสงค์จะย้ายพระมหามัยมุณีมาประดิษฐานไว้ในราชอาณาจักรของพม่า เช่น พระเจ้าอนิรุทธ์สมัยพุกาม พระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอูที่ประทับอยู่เมืองหงสาวดี และพระเจ้าอลองพญาต้นราชวงศ์กองบอง ที่เมืองรัตน์สิงห์หรือชเวโบ.. แต่ไม่มีใครทำได้สำเร็จ
จนกระทั่ง..พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปดุงหรือโบดอพญา ทรงยกทัพไปตียะไข่ได้ โปรดให้คนช่วยกันชะลอชักลากพระมหามัยมุณีข้ามภูเขายะไข่ หรือ อาระคันโยมา สู่ที่ราบแม้น้ำอิรวดี แล้วผูกแพชักลากขึ้นมาตามแม่น้ำจนถึงเมืองอมรปุระราชธานีของพระองค์ จากนั้นให้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ และนำพระมหามัยมุนีประดิษฐานมาจนทุกวันนี้ (ชาวบ้านเรียกว่า วัดยะไข่) วัดนี้จึงเป็นวัดที่ชาวพม่าเดินทางมากราบไหว้จากทั่วประเทศ
ลักษณะของพระมหามัยมุนีหล่อด้วยทองสำริด แสดงกิริยาประทับนั่ง ปางมารวิชัยแบบพม่า พระหัตถ์ขวาเหยียดชี้ตรงลงที่พระธรณี ขนาดขององค์พระสูงประมาณ ๓ เมตร เนื่องจากพระวรกายถูกปิดทองทับจนไม่สามารถสังเกตได้อย่างละเอียด แต่สังเกตได้ว่า ขนาดพระพักตร์และพระวรกายไม่ค่อยได้ส่วน เนื่องจากการชะลอมาและถูกไฟไหมครั้งหลัง
ข้อมูลจากหนังสือ ๖๐ วัด วัง และสถานที่สำคัญในพม่า โดย ภภพพล จันทร์วัฒนกุล
ชาวพม่าเชื่อว่า พระมหามัยมุณี เป็นพระพุทธรูปที่ยังมีลมหายใจหรือยังมีชีวิต
จึงเป็นที่มาของพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณีทุกเช้ามืด การล้างพระพักตร์เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน ประหนึ่งว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่
ทุกๆ เช้าเวลาตี 4 จะมีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยพระเจ้าอาวาสแห่งวัดมหามัยมุณีเป็นผู้ทำพิธี มีการเปิดมโหรีขับกล่อมขณะนำน้ำมาล้างพระโอษฐ์ แปรงฟัน เช็ดถูพระพักตร์ด้วยน้ำหอมทานาคา
แล้วนำผ้าขาวหรือผ้าสะอาดมาเช็ดทานาคาออก
- ผ้าที่นำมาเช็ดพระพักตร์ จะเป็นผ้าสะอาดของญาติโยมที่เตรียมมาให้เช็ดและนำกลับไปเก็บไว้บูชา -
เมื่อจบขั้นตอนพิธีล้างพระพักตร์ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการถวายภัตตาหารให้พระมหามัยมุณีฉัน เป็นอันเสร็จพิธี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จพิธีตอนตี 5
ล้างพระโอษฐ์ แปรงฟัน
เช็ดถูพระพักตร์ด้วยน้ำหอมทานาคา
บริเวณด้านนอกก็มีการสวดบูชา พระมหามัยมุณี
น้ำล้างพระพักตร์ น้ำมาแจกจ่ายให้กับผู้ศรัทธา
ภาพซ้าย องค์พระมหามัยมุณี ในปี ค.ศ. 1901
ภาพขวา องค์พระมหามัยมุณี ในปี ค.ศ. 1935
องค์พระใหญ่ขึ้นเนื่องจากผู้มีจิตศรัทธานำทองคำเปลวมาติดที่องค์พระ
ภาพซ้าย องค์พระมหามัยมุณี ในปี ค.ศ. 1984
ภาพขวา องค์พระมหามัยมุณี ในปี ค.ศ. 2010
ขนาดขององค์พระฯ ในปัจจุบัน ปี 2010 ขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่าเลยครับ
ระหว่างพิธี ด้านนอกก็มีคนสวดมนต์ ตลอดเวลาครับ
จากที่สังเกตผู้ที่มาร่วมพิธี มีนักท่องเทียงเพียง 20% เท่านั้นครับ นอกนั้นเป็นคนพม่า
เสร็จพิธี ท่านเจ้าอาวาสเดินทางกลับ ผู้มีจิตศรัทธาจะนำผ้าปูรองทางเท้าให้ท่านเดิน แล้วนำไปบูชา
หลังจากเสร็จพิธีล้างพระพักตร์ ผู้ชายขึ้นไปปิดทองได้
ผู้หญิงขึ้นไม่ได้ แต่ก็ฝากทองคำเปลวให้ผู้ชายขึ้นไปปิดแทนได้
ระหว่างทางเดินออกนอกวัด ร้านค้าก็เริ่มเปิดขายของที่ระลึก
แต่ช่วงนี้ ลุงเด้ง ป้าไก่ ไม่ได้ซื้ออะไร เพราะ ง่วงนอนอยู่ เพราะตอนนี้ก็ ตี 5 กว่าๆ
เราต้องกลับไปที่โรงแรมพักผ่อน บ้างก็นอน บ้างก็อาบน้ำแต่งตัว
8 โมงเช้าเราต้องออกเดินทางไปเมือง อมรปุระ เพื่อไปเที่ยวชมสะพานไม้สักอูเบ็ง
กลับมาถึงโรงแรมประมาณ 6 โมงเช้า นึกอยู่ว่าจะนอนต่อ หรือจะอาบน้ำแล้วลงไปทานข้าว
อืมมมมมย์ หม่ำ เลยดีกว่า 555
คณะของเรา พักที่ MANDLAY HILL 2 คืน เป็นโรงแรม 4 ดาว เจ้าของเป็นคนไทย
ออกเดินทางสู่ เมืองอมรปุระ
อมรปุระเป็นเมืองหลวงเก่า ก่อนที่จะย้ายไปมัณฑะเลย์ รุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าปดุง
พระเจ้าปดุงเป็นใคร และสำคัญอย่างไร???
พระเจ้าปดุง เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์อลองพญา (หรือเป็นองค์ที่ 6 หากนับรวมพระเจ้าหม่องหม่องด้วย) ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า เป็นพระโอรสลำดับที่ 5 ใน 6 พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2325 ปีเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าปดุง เมื่อทรงครองราชย์มีพระนามว่า "ปโดงเมง" หมายถึง "พระราชาจากเมืองปโดง" แต่มีพระนามที่เป็นที่เรียกขานในพม่าภายหลังว่า "โบดอพญา"แปลว่า "เสด็จปู่ "
พระเจ้าปดุง เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทำสงครามชนะยะไข่ หรือ อะรากัน ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของพม่า ที่พม่าไม่เคยเอาชนะมาก่อนเลย จึงมีความฮึกเหิม (หลังสงครามครั้งนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระมหามัยมุนี หรือพระมหาเมี๊ยะมุนี อันเป็นพระพุทธรูปประจำชาติพม่า จากยะไข่มาประทับที่มัณฑะเลย์อีกด้วย) พระองค์ทรงประกาศว่า จะทำสงครามกับโมกุล (อินเดีย) กับจีน และกับอยุธยา
พระเจ้าปดุง สั่งเกณฑ์ทัพจำนวนกว่า 1 แสน 2 หมื่นคน แยกเป็น 5 สาย 9 ทัพ มากที่สุดเท่าที่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" บุกกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2328 โดยพระองค์ทรงยกมาเป็นทัพหลวง โดยตั้งทัพและตั้งฐานบัญชาการที่เมาะตะมะ แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากอังวะ ราชธานีสู่เมาะตะมะแล้ว ในพงศาวดารพม่าระบุว่า เมื่อทรงทราบว่าทางเมาะตะมะเตรียมเสบียงไม่พอ พระองค์ทรงกริ้ว ถึงขนาดขว้างหอกใส่นายทหารผู้รับผิดชอบในงานนี้ในที่ประชุมพลทันที และจากเหตุครั้งนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพพม่าไม่พร้อม จึงไม่สามารถทำการสงครามครั้งนี้สำเร็จลงได้
ความเชื่อในอดีต ...
พระเจ้าปดุง เข้าตีเมืองยะไข่ แล้วอัญเชิญพระมหามัยมุนี และสร้างวัดขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระมหามัยมุนี ห่างจากตัวเมืองอมรปุระ ประมาณ 10 กิโล (ปัจจุบันวัดนี้อยู่ในเขตมัณฑะเลย์)
เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงต่อชาวยะไข่ และเชื่อว่าด้วยเหตุนี้ส่งผลให้
พระเจ้าปดุง "ดวงตก" การศึกสงครามกับไทยก็แพ้เสียทุกครั้ง
ต่อมาสมัยพระเจ้ามินดง จึงย้ายเมืองหลวงจาก อมรปุระไปมัณฑะเลย์ เพราะเชื่อว่ามีชัยภูมิที่ดีกว่า
สะพานไม้สักอูเบ็ง และทะเลสาบตองตะมาน
(U Bein Bridge and Taungthaman Lake)
สะพานอูเบ็ง (U Bein Bridge) เป็นสะพานที่ทำจากไม้ที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในตอนใต้ของเมืองอมรปุระ ประเทศพม่า สร้างจากไม้สักที่รื้อมาจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากอังวะ มายังอมรปุระจำนวน 1,208 ต้น เพื่อใช้ทำเป็นเสา
ทันทีที่ก้าวขึ้นสะพานอูเบ็ง ก็มีพ่อค้าแม่ขาย มานำเสนอสินค้ากันขวักไขว่
แต่ที่น่าสงสาร และเสียใจก็คือ การจับนกฮูกขังอยู่ในกรงอย่างแอออัด ยัดเยียด
โดยมีแม่ค้าเสนอราคาปล่อยนก เพื่อเป็นการทำบุญ
สะพานอูเบ็ง ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน มุ่งตรงไปยังเจดีย์เจ๊าต่อซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ ชื่ออูเบ็งนั้นเป็นชื่อของขุนนางผู้หนึ่งที่พระเจ้าปดุงโปรดฯให้มาทำหน้าที่เป็นแม่กองงานสร้างสะพาน ซึ่งตั้งอยู่ที่อมรปุระก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองมัณฑะเลย์
อมรปุระ ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนครมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า
ทางการพม่าได้วางแผนรักษาสะพานอูเบ็งให้แข็งแรง โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง และออกมาตรการเพื่อให้สะพานคงทนอยู่ต่อไปได้
หนึ่งในข้อห้ามก็คือ ห้ามขับขี่จักรยานยนต์ หรือรถจักรยานบนสะพาน แต่ก็มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ปฏิบัติตาม
ปัจจุบันทางการพม่าพยายามพื้นฟูบรรยากาศโดยรอบ ดูแลน้ำในทะเลสาบไม่ให้เน่าเสีย
และตัวสะพานเองก็ได้รับการฟื้นฟูบูรณะ ขึ้นมาระดับหนึ่ง
วิธีชีวิตของคนเมืองอมรปุระ ยังคงหาปลาในทะเลสาบตองตะมาน เหมือนเช่นในอดีต
ลุงเด้ง ป้าไก่ หวังว่า ทางการพม่า จะช่วยดูแลให้สะพานไม้สักอูเบ็ง และทะเลสาบตองตะมานอยู่ต่อไปได้นานเท่านาน
คณะของลุงเด้ง ป้าไก่ ใช้เวลาอยู่ที่สะพานไม้สักอูเบ็ง ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
เดินเท้าข้ามสะพานมาจนเกือบสุดทางเดิน แล้วก็นั่งเรือกลับเข้าฝั่งเดิม
เรือกอนโดล่า แบบพม่า (จริงๆ แล้วชื่อเรืออะไรก็ไม่ทราบนะครับ) ค่านั่งเรือลำละ 4,000 จ๊าด นั่งได้ 4 คน
ตอนที่อยู่กลางทะเลสาบ คนพายจะพายช้าๆ ถ้าเห็นเรากำลังถ่ายรูป (เอาใจกันสุดๆ)
ภาพนี้ถ่ายได้ตอนอยู่บนเรือ คนเรือ หยุดเรือให้ถ่ายรูป
(แอบนึกในใจ - รัฐบาลพม่าจ้างมาเป็นแบบให้ถ่ายรูปหรือป่าวก็ไม่ทราบจิ)
วิวสะพานไม้จากบนเรือ
ใกล้ฝั่ง คนเรือเริ่มจะเร่งฝีพาย เร็วขึ้น เรื่อยๆ
ก่อนลงจากเรือ จัดไป 1 ภาพ
คณะของลุงเด้ง ป้าไก่ เดินทางจาก สะพานไม้ สะพานอูเบ็ง
โดยมีจุดมุ่งหมายที่วัดมหากันดายน ให้ทันเวลาที่พระตั้งขบวนใส่บาตร เวลาประมาณ 10.45 น.
วัดมหากันดายน ตั้งอยู่ริมทะเลสาบตองตะมาน ใกล้สะพานอูเบ็ง และเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกว่า 1,200 คน รวมถึงพระภิกษุจาก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและรักษาพระธรรมวินัยมากที่สุด
ด้วยวัตรปฎิบัติอันงดงามของภิกษุสงฆ์ในวัดมหากันดายน ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากส่งบุตรหลานมาศึกษาพุทธศาสนากันที่นี่ และทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาจองคิวกันนำภัตตาหารมาถวายพระหลายร้อยรูปไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ดำรงค์อยู่ได้แม้จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลพม่าไม่มากนัก
ผู้มีจิตศรัทธานำภัตตาหารมาถวายพระทั้งวัด
การเดินทางท่องเที่ยวมัณฑะเลย์วันนี้รู้สึกว่ายาวนานมากๆ ตื่นตั้งแต่ตี 3 มีกิจกรรมเยอะแยะ
ตอนที่ไกด์บอกว่าได้เวลาทานอาหารกลางวัน "ตกใจเลย" นึกว่าทานข้าวเย็นซะอีก
นึกในใจว่า ... นี่เพิ่งจะเที่ยงเองหรือ?
แวะทานอาหารกลางวันที่ร้านต้นยำกุ้ง 2 ครับ
เที่ยวพม่า ทานอาหารไทยทุกวัน เรื่องอาหารการกินไม่มีปัญหา เพราะทัวร์ไทยทุกแห่งจะพาไปทานอาหารไทยกับอาหารจีน ทานง่ายสบายๆ ครับ
หลังอาหาร แวะไปชมการสาธิตการทำทองคำเปลว
เป็นทองคำเปลวที่ตีจากทองคำแท้ๆ ใช้แรงงานคนทุกขึ้นตอน
ชม VDO ตาม LIKE นี้จะเข้าใจขั้นตอนการทำได้ชัดเจนครับ
ปัจจุบันคนพม่าก็ยังให้ความสำคัญกับวัด และโบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อไดก็ตามที่เราเดินเข้าเขตวัด เราต้องถอดรองเท้า ถอดถุงน่อง ห้ามนุ่งกระโปรงสั้น และ เสื้อสายเดี่ยวแบบสปาเก็ตตี้ก็ไม่ได้นะครับ
เรามาเที่ยวกันต่อที่วัดชเวนันดอว์
วัดชเวนันดอว์ เป็นที่ตั้งของพระตำหนักไม้สักชเวนันดอว์
หรือ พระราชมณเฑียรทอง (Golden Palace Monastry) ที่สร้างจากไม้สักปิดทองทั้งหลัง
ในอดีตพระราชมณเฑียรทองตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง
เป็นสถานที่นั่งเจริญสมาธิของพระเจ้ามินดง เมื่อครั้งที่ทรงประชวนก็มานั่งสมาธิ
และสิ้นพระชนที่พระราชมณเฑียรทองแห่งนี้
หลังจากนั้นพระเจ้าธีบอ ก็ได้ย้ายพระตำหนักไม้สักชเวนันดอว์ มาไว้ด้านนอกพระราชวัง
ทำให้พระตำหนักไม้สักชเวนันดอว์ แห่งนี้รอดพ้นจากไฟสงคราม
--- อังกฤษเข้ายึดครองพม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง ทางอังกฤษคิดว่าพระราชวังเป็นแหล่งซ่องสุมของทหารญี่ปุ่น จึงได้ทำลายพระราชวังเสียด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1945 ส่งผลให้พระราชวังแห่งนี้เสียหายเกือบทั้งหมด ---
ปัจจุบันภายนอกไม่เหลือทองให้เห็นแล้ว คงหลุดร่อนไปตามกาลเวลา
พระตำหนักไม้สักชเวนันดอว์ มีหลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น โดดเด่นด้วยฝีมือการแกะสลักที่สวยงามทั้งหลัง
ตามป้าไก่ ไปชมด้านในกันครับ
ภายในห้องโถงปิดทองทั้งหลัง
ความโดดเด่นของพระตำหนักไม้สักชเวนันดอว์ อยู่ที่ฝีมือการแกละสลักไม้
นับเป็นหนึ่งในสุดยอดสถาปัตยกรรมงานแกละสลักไม้ แห่งหนึ่งของพม่า
ใช้เวลาในการเดินชม วัดชเวนันดอว์ ประมาณ 40 นาที
ด้านนอกมีร้านขายของที่ระลึก
ส่วนมากเป็นงานพื้นบ้าน เช่นหุ่นกระบอก ฆ้อง ระฆัง และงานไม้ รวมถึงรูปหล่อพระพุทธรูปต่างๆ
ข้างวัดมีศิลปินวาดภาพด้วยใบมีดโกน เป็นคนไทใหญ่ พูดไทยได้ ขายภาพละ 1,000 จ๊าด (ประมาณ 40 บาท)
ใน VDO คนละคนกันนะครับ แต่วิธีการเดียวกัน
นมัสการพระพุทธรูปไสยาสน์ ณ วัดกุสินารา
ช่วงเย็น เราขึ้นภูเขามมัณฑะเลย์ (Mandalay Hill)
รถตู้ขึ้นไม่ได้ครับ เราต้องเหมารถสองแถวซิ่งขึ้นไปด้านบน
Mandalay Hill ถือเป็นชัยภูมิหลักของเมืองมัณฑะเลย์ คำว่า “มัณฑะเลย์” เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “มันดูลา” หรือ “มันดาลา” ซึ่งหมายถึงวงล้อแห่งพลังอำนาจ หรือมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์
พระเจ้ามินดง มีความเชื่อว่า
ดินแดนแห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ที่ภูเขาลูกนี้ และทำนายว่าดินแดนนี้จะเป็นเมืองที่รุ่งเรืองทางพุทธศาสนา และนี่คือหนึ่งในสาเหตุให้พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ใต้ร่มเงาภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
มัณฑะเลย์ฮิลล์ : ตั้งอยู่กลางเมืองมัณฑะเลย์ สูง 236 เมตร ปากทางขึ้นมารูปปั้นสิงห์ขนาดใหญ่สองตัว ระหว่างทางมีปูชนียสถานให้สักระบูชาเป็นระยะๆ หากว่าท่านไม่อยากเดินขึ้นก็สามารถนั่งรถสองแถวขึ้นบนยอดมัณฑะเลย์ได้เลย (ท่ารถอยู่เชิงเขาทางขึ้น) โดยไม่ต้องเดินขึ้นบันได 7,292 ขั้น แต่ก็จะไม่ผ่านจุดชมที่หนึ่งและจุดชมที่สอง นักท่องเที่ยวบางคนจึงใช้วิธีขึ้นรถไปจนถึงจุดชมวิวบนยอดเขา แล้วเดินทางกลับลงบันไดก็ได้
นักท่องเที่ยวที่พกกล้องถ่ายรูป กล้อง VDO ต้องเสียค่านำเข้าไปในเขตวิหาร คนละ 1,000 จ๊าด
บนยอดเขามัณฑะเลย์ มีวิหาร “ซูตองพญา” รูปทรงคล้ายมณฑปครอบพระมหามัยมุนี ภายใต้วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระสมณโคดม
มัณฑะเลย์ฮิลล์ จุดชมวิว พระอาทิตย์ตกดิน ที่สวยที่สุดในมัณฑะเลย์
สวยงามดีครับ
ตะวันลับขอบฟ้าที่ มัณฑะเลย์ฮิลล์
ตะวันตกดิน ก็ได้เวลาเก็บของลงจากเขากันแล้วละครับ
รูปสุดท้ายบนมัณฑะเลย์ฮิลล์
มื้อเย็นแวะทานที่ร้าน Golden Duck เป็นร้านอาหารจีนชื่อดังใน มัณฑะเลย์
มื้อนี้อร่อยๆ หลายอย่างนะครับ เมนูแปลกๆ แต่อร่อย กุ้งห่อมันฝรั่งทอดกรอบ
เมนูเป็ดย่าง ของขึ้นชื่อของร้านนี้
เที่ยวตั้งแต่ตี 3 วันนี้เราเข้าโรงแรมประมาณ 2 ทุ่ม อาบน้ำแล้วนอนหลับทันทีเลยครับ
วันที่ 3 : เนปิดอว์ - เดินทางกลับกรุงเทพ
วันนี้เป็นวันสุดท้ายสำหรับทริป มิงกะลาบา ยลเสน่ห์ มัณฑะเลย์ - เนปิดอว์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์
ตื่น 6 โมงเช้า อาบน้ำ เก็บของ และทำการ Check - out
ทานอาหารเช้าที่โรงแรม เวลา 8 โมงเช้า รถออกจากโรงแรมมุ่งหน้าสู่ เมืองเนปิดอว์ เวลา 9 โมงเช้า
จากมัณฑะเลย์ สู่ เนปิดอว์ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง ใช้ความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างทางมีจุดพักรถ 1 แห่งแต่ก็ใช้เวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมง
แนะนำก่อนออกจากโรงแรมเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยนะครับ
ถึงเมืองเนปิดอว์ ก็แวะทานอาหารกลางวันกันก่อนนะครับ
เนปิดอว์เป็นเมืองหลวงใหม่ล่าสุดของพม่า ทางการตั้งใจจะสร้างขึ้นเป็นเมืองราชการ
รูปแบบการสร้างเมืองน่าจะเหมือกับ ปุตราจายา ในมาเลเซีย
เนปิดอว์ (Naypyidaw) มีความหมายว่า "มหาราชธานี" หรือ "ที่อยู่ของกษัตริย์"
เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารของประเทศพม่า ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจะปยี (Kyetpyay) ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองปยินมะนา (Pyinmana) ในเขตมัณฑะเลย์
เหตุผลในการย้ายเมืองหลวง
1. นายพลตาน ฉ่วย ผู้นำของรัฐบาลทหารพม่า เชื่อคำทำนายของโหรว่า การย้ายเมืองหลวงเป็นการฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของพม่าสมัยที่ยังมีกษัตริย์ปกครองประเทศ เพราะในอดีตเมืองหลวงของพม่า ขึ้นอยู่พระประสงค์ของกษัตริย์ที่ปกครองในยุคนั้นๆ ว่าต้องการให้ที่ใดเป็นเมืองหลวง สังเกตได้ว่า พุกาม อังวะ ตองอู หงสาวดี อมรปุระ มัณฑะเลย์ ล้วนแล้วแต่เคยเป็นเมืองหลวงของพม่ามาแล้วทั้งสิ้น
2. การปรับชัยภูมิ หรือจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร เชื่อว่าหากเมืองหลวงยังคงเป็นย่างกุ้ง จะถูกโจมตีได้ง่าย
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเนปิดอว์
มหาเจดีย์อุปปาตสันติ (Uppatasanti) ซึ่งจำลองแบบไปจากมหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง และทางการยังมีแผนการสร้างสวนสาธารณะ น้ำพุ สวนสัตว์ สวนบริเวณใจกลางเมือง และศูนย์การค้าแห่งใหม่อีก 42 แห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเมืองหลวงแห่งใหม่ นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างอาคารทันสมัยต่าง ๆ สำหรับหน่วยงานรัฐ ส่วนที่พักอาศัย โรงพยาบาลเอกชน ธนาคาร อาคารสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า (UMFCCI) และโครงการศูนย์การค้าระดับนานาชาติ โดยเป็นโครงการที่จะดำเนินไปตลอดทศวรรษข้างหน้า เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยของเมืองหลวงแห่งใหม่ในอนาคต
ชมความงามของเจดีย์อุปปาตสันติ (The Uppatasanti Pagoda)
ต้องถอดรองเท้ากันตั้งแต่รั้วหน้าประตูทางเข้าเลยนะครับ
สุภาพสตรีก็ต้องสวมผ้าถุงที่จัดให้
ความยิ่งใหญ่ของมหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้งของพม่า
เป็นที่เลื่องลือถึงความงดงามไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนจากทั่วโลกอยากที่จะไปเยือน
และชมความงามของมหาเจดีย์แห่งนี้สักครั้ง
ทางการพม่าก็เลยจัด แบบจำลองของมหาเจดีย์ชเวดากอง ขึ้นที่เมืองหลวงใหม่ซะเลย
โดยให้ชื่อว่า เจดีย์อุปปาตสันติ (The Uppatasanti Pagoda)
เจดีย์อุปปาตสันติ (The Uppatasanti Pagoda) มีความสูงประมาณ 99 เมตร (325 ฟุต)
ปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองเนปิดอว์
ถึงแม้ว่าเจดีย์อุปปาตสันติ เป็นเพียงแบบจำลอง แต่ก็ยิ่งใหญ่สมฐานะ ภายในตระกาลตามากครับ
มีนักท่องเที่ยว และคนพม่ามาสักการะไม่ขาดสาย
ถ่ายภาพคู่ไว้เป็นที่ระลึก
ข้างๆ เจดีย์อุปปาตสันติ มีช้างเผือก อยู่ 4-5 เชือก
ตอนแรกนึกว่าช้างเผือกจะมีผิวสีเทาซะอีก แต่กลายเป็นช้างสีชมพู ขนยาวสีน้ำตาลครับ
ช้างเผือก คือช้างที่มีลักษณะต่างจากช้างธรรมดาทั่วไป ด้วยมีสีผิว นัยน์ตาและเล็บขาว
จัดได้ว่ามีลักษณะที่หาได้ยากจึงเป็นที่เชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้า
ของและเป็นเครื่องมงคลชนิดหนึ่งในสัปตรัตนะแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
ช้างเผือก หรือช้างที่มีความสำคัฐควรจะมีคชลักษณะ 7 ประการ คือ
ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกศขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่
แวะทานอาหารเย็น ก่อนเดินทางกลับ
ระหว่างทางวิวสวย คนขับรถจอดให้เราลงไปถ่ายรูปกันครับ
มาถึงสนามบิน เนปิดอว์ เป็นสนามบินใหม่ (มากๆ)
เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์เที่ยวบินที่ PG722
สำนักงานของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ตั้งอยู่ในสนามบินเนปิดอว์
ได้เวลาบอกลา มัณฑะเลย์ และ เนปิดอว์ แล้วละครับ
Bangkok Airways - Asia's Boutique Airline
จะมีห้องรับรองผู้โดยสาร ให้ผ่อนคลายระหว่างรอขึ้นเครื่อง อาหาร ขนม เครื่องดื่ม พร้อมบริการ
Bangkok Airways - Asia's Boutique Airline
บนเครื่องมีบริการ ของว่าง อาหารร้อน และเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบถ้วน
เริ่มต้นด้วย " Mixed Nuts " ขนมคบเคี้ยวทานเล่นไปพลางๆ
เครื่องดื่ม... น้ำผลไม้ สไปร์ และไวน์ขาว เรียกหาได้ตลอดการเดินทาง
Economy ไม่ได้คับแคบอย่างที่คิด ค่อนข้างกว้าง นั่งสบาย
ขอปรบมือให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องครับ ยิ้มแย้มตลอด บริการดี (มากๆ)
อาหารบนเครื่อง ชุดนี้เป็นอกไก่ย่าง ทานกับน้ำจิ้มแบบไทย (ไม่เผ็ดมาก)
+ เพนเน่ผัดมะเขือเทศ + ขนมปัง + เนยสด + บราวนี่
ทางเลือกที่ 2 แฮม + ชีส
ลุงเด้ง ป้าไก่ เดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 5 ทุ่ม
เป็นการเดินทางไปพม่า ครั้งแรก พร้อมด้วยความประทับใจ
พม่า เพิ่งเปิดประเทศ สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นวัด และโบราณสถาน
ที่ยังมีความ"สดและดิบ" ทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากของเดิมมากนัก
อยากให้เพื่อนๆ มาเยือนพม่า ให้เร็วที่สุด
ก่อนที่ความเจริญด้านวัตถุจะเข้ามาบิดเบือนสิ่งต่างๆ ในพม่า
ขอบคุณสายการบินบางกอกแอร์เวย์
Bangkok Airways - Asia's Boutique Airline
http://www.bangkokair.com