fbpx

เที่ยวเมืองน่าน : วัดภูมินทร์

เที่ยวเมืองน่าน : วัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดพรหมมินทร์” ตั้งตามชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2139 หลังจากที่เจ้าเจตบุตรขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปีนี้ ต่อมาชื่อวัดถูกเรียกกันจนเพี้ยนไป จนกลายเป็น “วัดภูมินทร์” ตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน

wat_phumin_02

จุดเด่นของวัดนี้คือ "พระอุโบสถจตุรมุข” สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ที่รวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน ในลักษณะการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อแห่งพุทธศาสนา โดยมีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐ์ฐานอยู่ภายใน และมีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ที่เปรียบเสมือนการอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

wat_phumin_08

มีเรื่องเล่ากันว่า หากใครจะไปกราบขอพรพระจตุรทิศ ให้พยายามสังเกตหน้าองค์พระ 1 ในทั้งสี่ทิศ ซึ่งจะมีอยู่เพียงทิศเดียวเท่านั้น ที่หน้าองค์พระประธานจะมีลักษณะยิ้มแย้มมากกว่าทั้ง 3 ทิศที่เหลือ ก็ให้กราบขอพรยังทิศนั้นแล้วจะได้สมปรารถนาตามที่ตั้งใจ

"ฮูปแต้ม" ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้ช่างหลวงบูรณะวัดเป็นครั้งใหญ่ มีจำนวนถึง 22 วัด และวัดภูมินทร์ก็ได้รับการบูรณะเป็นอันดับที่ 9 ใช้เวลาบูรณะอยู่ราว 8 ปี (พ.ศ. 2410 - 2418) ซึ่งกรม
ศิลปากรสันนิษฐานว่า การบูรณะครั้งนี้ เป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์นี้เอง

ภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษในวัดภูมินทร์แห่งนี้ก็คือ ภาพ “กระซิบบันลือโลก” หรือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน

wat_phumin_05

อาจารย์ วินัย ปราบริปู ศิลปินสายเลือดน่าน ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ศิลปินผู้เขียนภาพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด ชาวไทลื้อ เนื่องจากภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์กับวัดหนองบัวมีโครงสร้างสีเดียวกัน คือ แม่สีแดง น้ำเงิน เหลืองเป็นหลัก และมีภาพที่คล้ายคลึงกันถึงกว่า 40 จุด เช่น ใบหน้าคน การแต่งกาย สรรพสัตว์ ทั้งไก่แจ้ นก ลิง กวาง แม้กระทั่งแนวการลากเส้นสายพุ่มไม้และกอ สับปะรด ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการ ค้นพบภาพร่างด้วยหมึกบนกระดาษสาพับ (ชาวล้านนาเรียก ปั๊บสา) ระบุว่าเป็น ของ "หนานบัวผัน" ใช้ร่างก่อนภาพจริงลงบนฝาผนัง ซึ่งมีหลายภาพ อาทิ ภาพอี โรติกของลิงหนุ่มสาว เป็นภาพร่างใน "ปั๊บสา" พบที่วัดหนองบัว แล้วมีภาพนี้ไป ปรากฎที่ฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย

คำกลอนภาษาคำเมือง ที่แต่งขึ้นมาสำหรับภาพนี้ ว่าไว้ว่า…
"กำฮักน้องกูปี้จั๊กเอาไว้ในน้ำก็กั๋วหนาว
จั๊กเอาไว้ปื้นอากาศกลางหาว
ก็กั๋วหมอกเหมยซ่อนดาวลงมาขะลุ้ม
จั๊กเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม
ก็กั๋วเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวจายปี้นี้
จั๊กหื้อมันไห้ อะฮิ อะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา"

คำแปล “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”

เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแบบล้านนา ซึ่งเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข และพระประธานเป็นแบบจตุรพักตร์ ที่ทางกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ก็ได้เคยอยู่บนธนบัตรราคา 1 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรในแบบ 5 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2485 ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 และมีโบสถ์วัดภูมินทร์อยู่ทางด้านซ้ายของธนบัตร

การเดินทาง : วัดภูมินทร์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลในเวียง ภายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ใกล้กับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
GPS : 18°46'28.8"N 100°46'17.7"E

Screen-Shot-2015-06-04-at-10.49.33-AM




Leave a comment