เที่ยวเมืองน่าน : พระธาตุช้างค้ำ
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดหลวง" หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (หอคำ) สร้างขึ้นในปีสมัยพระเจ้าปู่แข็ง พ.ศ.1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในอดีตตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะ สุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา ( ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และถายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย
พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารเป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถงด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางทำเป็นประตูใหญ่ และ ประตูเล็กอยู่ด้านซ้าย และ ด้านขวามีทางขึ้นเป็นประตูเล็กๆ ตรงข้ามพระประธานด้านทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และ ด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวกลายกนกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหาร วัดภูมินทร์ ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปทองคำ 65% สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬี ทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2524 หนัก 69 บาท สร้างโดยเจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ภูคา เป็นผู้สร้างเมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือ เจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปชางค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจาก เหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไปเป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซมและหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก
พระเจ้าหลวงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิวัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 4.50 เมตร สูง 6 เมตรศิลปะสมัยล้านนา ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำ และ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน เป็นที่นับถือของชาวเมืองน่านว่าศักสิทธ์นอกจากพระองค์จะงดงามแล้ว ยังมีสังฆาฎิซึ่งปั้นลวดลายก้านต่อดอก ประดับกระจกงดงามฐานชุกชีเป็นรูปตรีมุขรายล้อม ไปด้วยพระพุทธรูปขนาดต่างๆอีกหลายองค์
พระเจดีย์ทิพย์เป็นเจดีย์องค์เล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแนวเดียวกับพระเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร มีวิหารพระเจ้าทันใจกั้นกลางห่างจากกำแพง 4.50 เมตร ภายในบรรจุ พระบรมธาตุ ลักษณะเจดีย์เหลี่ยมจตุรัสก่ออิฐถือปูน กว้างด้านละ 3 วา สูง 7 วา 2 ศอก ก่อเป็นฐานเขียงหน้ากระดานองค์เจดีย์ย่อมุม ด้านข้างเจาะเป็นซุ้มจร นำรูปเรือแก้ว สาหรับประดิษฐานพระรพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ต่อองค์เจดีย์เป็นส่วนยอด ทำบังหน้ากระดานฐานเขียงซ้อนกัน 3 ศอก ล้อมเป็นแนวสี่เหลี่ยม เว้นช่องทางทิศตะวันออกสำหรับเข้าประทักษิณ
พญาครุฑพ่าห์ ( พญาครุฑกางปีก) ประดับที่หน้าบันพระวิหาร หรืออุโบสถ ในจังหวัดน่านไม่ปรากฏว่าสร้างไว้ในวัดใดเลย รูปครุฑพ่าห์นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี สะท้อนให้เห็นถึงการถวายความจงรักภักดีต่อราชสำนักสยามของเจ้าเมืองน่านในฐานะเมืองประเทศราช และ หอไตรแห่งนี้พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองเมืองน่านขณะนั้นตั้งพระทัยที่จะสร้างอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5 เพราะปี พ.ศ. 2453 เป็นปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต ดังหลักฐานปรากฏเหนือครุฑพ่าห์ตัวที่สองจำหลักด้วยไม้ห้อยตัวลงมาหน้าหอไตร จารึกอักษรย่อไว้ว่า “ พ จ น พ ร ช ก ศ ล พ พ ธ ฉ ลฯ” ซึ่งนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน ได้ถอดความไว้ว่า “ พระเจ้าน่านพระราชกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวง”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โทร. 054-750247, 054-751169, 084-6171542
สถานีตำรวจท่องเที่ยวน่าน โทร. 054-710216
GPS : 18°46'39.1"N 100°46'19.2"E
รีวิว "อร่อยเมืองน่าน" The amazing journey blogging contest
ขอพลังโชเชียลช่วยกด " โหวต" เพื่อให้คะแนนให้ลุงเด้ง ป้าไก่ ได้ที่http://goo.gl/yKurdf
(กดโหวต แล้วตามด้วย กด OK เป็นอันจบขั้นตอน)
ขอได้รับความขอบคุณจาก ลุงเด้ง ป้าไก่